ฟื้นฟูเศรษฐกิจ พลิกชีวิตโดยสปา


 

สปาสร้างอาชีพ

 
ธุรกิจสปา เป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง และอุตสาหกรรมสนับสนุนในธุรกิจสปา ประกอบด้วยอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลิตวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการให้บริการในธุรกิจสปา อุตสาหกรรมการผลิตบุคลากรให้บริการในสถานประกอบการธุรกิจสปา อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมทำความสะอาด 

อุตสาหกรรมสมุนไพรไทยมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 48,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตร้อยละ 15-20 ต่อไป ตลาดนี้ประกอบด้วยอุตสาหกรรมสมุนไพรที่เป็นวัตถุดิบ (Crude Herb) สารสกัดสมุนไพร ยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง สมุนไพรเพื่อธุรกิจสปา เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความโดดเด่นและการสร้างอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของธุรกิจสปาไทย สมุนไพรไทยเป็นส่วนประกอบที่มีบทบาทมากในสปา โดยมีการนำมาแปรรูปและประยุกต์ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ในสปาหลายรูปแบบ สอดคล้องกับทั้งทฤษฎีการแพทย์แผนไทยและตะวันออกซึ่งจะเป็นการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าได้แตกต่างจากสปาของประเทศอื่น เพื่อให้ใช้บริการสัมผัสได้ถึงสินค้า บริการ บรรยากาศที่สะท้อนความเป็นไทย ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยสมุนไพรไทยที่นำมาใช้ในสปาสามารถยกตัวอย่างตามประเภทการบริการได้ ดังนี้

(1) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับผิวหน้า ได้แก่ ครีมล้างหน้า ครีมขัดผิว โลชั่นปรับสภาพผิว ครีมบำรุง เซรั่ม ครีมนวดหน้า ครีมพอกหน้า

(2) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับผิวกาย ได้แก่ น้ำมันนวด ครีมขัดผิว ครีมพอกตัว ครีมบำรุงผิว ขัดตัว พอกตัว

(3) ประคบตัว (ลูกประคบ) มักผลิตออกมาในรูปแบบของลูกประคบสมุนไพร ซึ่งมีส่วนผสมของเหง้าไพล ผิวมะกรูด ตะไคร้บ้าน ใบมะขาม ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ใบส้มป่อย เกลือแกง การบูร พิมเสน

(4) อบตัว เช่น เกสรดอกไม้ 5 ชนิด อันได้แก่ มะลิ กุหลาบ ดอกบัวหลวง พิกุล บุนนาค

(5) บำรุงผิว เช่น มะขาม ทานาคา (สมุนไพรจากพม่า) ชะเอมเทศ งาดำ ชาเขียว พญารากเดียว โลดทะนง

(6) แช่อ่างน้ำอุ่น เช่น มะกรูด ตะไคร้ พิมเสน ข่า

(7) น้ำมันหอมระเหย เช่น สะระแหน่ กระดังงา กำยาน มะกรูด โหระพา การบูร ตะไคร้ กระวาน เป็นต้น

(8) เครื่องดื่มหรืออาหารสมุนไพร เช่น เครื่องดื่มหรืออาหารที่มีส่วนผสมของกล้วย มะละกอ ฝรั่ง มะเขือเทศ มะนาว ส้ม กระเพรา โหระพา ขิง ข่า หัวผักกาด แตงโม เป็นต้น
 
 

ความคิดเห็น